ประวัติสวท.พังงา
 
 
 
 

 สวท.พังงา

     

        วันที่ 19 กรกฎาคม 2519 สถานีวิทยุกระจายแห่งประเทศไทย จังหวัดพังงา ออกอากาศส่งกระจายเสียงอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกด้วยระบบ เอ.เอ็ม ความถี่ 1341 กิโลเฮริซ์ โดยใช้อาคารศาลากลางจังหวัดพังงาหลังเก่าปรับปรุงเป็นห้องส่งใช้ออกอากาศเผยแพร่ข้อมูล

ส่วนเครื่องส่งเป็นเครื่องที่กองช่างกรมประชาสัมพันธ์ จัดสร้างขึ้นเองขนาดกำลังส่ง10 กิโลวัตต์ เนื่องจากยังไม่ได้รับงบประมาณจนกระทั่งปี 2524 จึงได้รับการจัดสรรงบประมาณ ในการก่อสร้างอาคาร สำนักงานและบ้านพัก พร้อมทั้งย้ายมาอยู่ ณ อาคารสำนักงานแห่งใหม่ เลขที่ 2 ถนนเทศบาลบำรุง ตำบลท้ายช้าง อำเภอเมือง จังหวัดพังงา เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม2526 เนื่องจากเครื่องส่งระบบ เอ. เอ็ม. ของ สวท.พังงา เป็นเครื่องส่งที่กองช่างกรมประชาสัมพันธ์ จัดสร้างขึ้นเองกอปรกับใช้งานมานานถึง 26 ปีเศษ ประสิทธิภาพของเครื่องส่งจึงลดน้อยด้อยลงตามกาลเวลา อุปกรณ์ต่าง ๆ หมดอายุการใช้งานจนไม่สามารถซ่อมแซมเพื่อใช้งานได้อีกต่อไป จึงเป็นที่น่ายินดีที่ในปีงบประมาณ 2545 กรมประชาสัมพันธ์ ได้จัดสรร งบประมาณจัดซื้อเครื่องส่ง เอ.เอ็ม เครื่องใหม่ขนาด 10 กิโลวัตต์ ให้สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จังหวัดพังงา พร้อมอุปกรณ์ส่วนควบตลอดจนปรับปรุงห้องเครื่องส่ง ระบบการส่ง และอุปกรณ์ห้องส่งใหม่ทั้งหมด ดำเนินการติดตั้งเสร็จเรียบร้อยและเริ่มส่งกระจายเสียงตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2545 เป็นต้นมา

สำหรับระบบ เอฟ.เอ็ม ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2539 โดยผู้อำนวยการสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จังหวัดพังงา ( นางสาวนิ่มนวล เขียวหวาน ) ได้ขออนุมัติอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ในขณะนั้น ( นายชั้น พูลสมบัติ ) ขอนำเครื่องส่งเก่าจากสถานีวิทยุกระจายแห่งประเทศไทย จังหวัดชุมพร ซึงใช้งาน มานานถึง 30 ปีเศษ ปรับปรุงซ่อมแซมใหม่ จนสามารถใช้งานได้ในระดับหนึ่ง และถือฤกษ์ออกอากาศส่งกระจายเสียงด้วยความถี่ เอฟ.เอ็ม. ความถี่ 100 มกกะเฮริซ์ เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2539 ซึ่งเป็นวันฉัตรมงคล และถือเป็นกิจกรรมเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในปีกาญจนาภิเษก แต่เนื่องจากสภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปของจังหวัดพังงา เป็นภูเขาล้อมรอบ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการส่งกระจายเสียงเป็นอย่างมากเพราะรัศมีในการส่งกระจายเสียงไม่สามารถครอบคลุมได้ทุกพื้นที่ กอรป์กับประสิทธิภาพของเครื่องส่งก็ไม่สมบูรณ์ ร้อยเปอร์เซ็น จึงได้พิจารณาย้ายเครื่องส่งขึ้นไปติดตั้งบนเขาช้าง ซึ่งมีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1000 ฟิต ทำให้รัศมีการส่งกระจายเสียงครอบคลุมพื้นที่ได้มากขึ้น

อย่างไรก็ดี เนื่องจากเป็นเครื่องส่งเก่าที่ใช้งานมานานถึง 30 ปีเศษอุปกรณ์ต่าง ๆ หมดอายุการใช้งานแล้ว เครื่องจึงขัดข้องบ่อยครั้งมากการส่งกระจายเสียงไม่เป็นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อการประชาสัมพันธ์งานโครงการและนโยบายต่าง ๆของรัฐบาลเป็นอย่างมาก จึงได้รับอนุมัติจากรองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ฝ่ายปฏิบัติการ ( นายสมพงษ์ วิสุทธิ์แพทย์ ตำแหน่งในขณะนั้น ) ให้นำเครื่องส่ง เอฟ.เอ็มจากสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จังหวัดจันทบุรี ( ใช้งานมาแล้ว 7 ปี ) มาติดตั้งใช้งานที่สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จังหวัดพังงา โดยเจ้าหน้าที่จากสำนักส่งเสริมและพัฒนางานเทคนิคกรมประชาสัมพันธ์ได้นำมาติดตั้งและใช้งานตั้งแต่วันที่ 18 กันยายน 2541

 

เริ่มก่อตั้งกรมประชาสัมพันธ์ 

      กรมประชาสัมพันธ์เริ่มก่อตั้งเมื่อ 3 พฤษภาคม 2476 ภายหลัง การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช มาเป็นระบอบประชาธิปไตย มีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศโดยมีชื่อในระยะเริ่มแรกว่า "กองโฆษณาการ” และได้เปลี่ยนชื่อเป็น สำนักงานโฆษณาการ” เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2476 และได้มีการพัฒนาผลงานมาเป็นลำดับโดยมีการปรับปรุงและขยายความรับผิดชอบเพิ่มขึ้นทุก ๆ ระยะตามความเจริญก้าวหน้าทางวิชาการสภาพของสังคม การเมือง เศรษฐกิจและวัฒนธรรม ตลอดจนนโยบายของรัฐบาลในแต่ละสมัย และเปลี่ยนชื่อมาเป็น "กรมโฆษณาการ” เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2483 หลังจากนั้น 12 ปี ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "กรมประชาสัมพันธ์” เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2495

  • 3 พฤษภาคม 2476 ตั้งเป็น "กองการโฆษณา” โดยพระราชบัญญัติ จัดตั้งกระทรวงและกรมมีฐานะเป็น กรมอิสระ ขึ้นตรงต่อคณะรัฐมนตรี
  • 9 ธันวาคม 2476 เปลี่ยนชื่อเป็น "สำนักงานโฆษณาการ” มีฐานะเป็นกรมหัวหน้าสำนักงาน เทียบเท่าอธิบดี แบ่งส่วนราชการเป็น 3 กอง คือ สำนักงานเลขานุการกรม กองเผยแพร่ความรู้ และกองหนังสือพิมพ์ โดยทำหน้าที่หลัก 3 ประการ คือให้ข่าว และความรู้แก่ประชาชน เพื่อป้องกันความเข้าใจผิดเกี่ยวกับรัฐบาล และประเทศโดยส่วนรวม
  • 31 มีนาคม 2481 โอนกิจการด้านช่าง และทะเบียนวิทยุ จากกรมไปรษณีย์ โทรเลขมาขึ้นกับสำนักงานโฆษณาการ และมีการตั้งโฆษณาการเขตขึ้นเป็นเขตแรกที่จังหวัดหนองคาย และที่จังหวัดพระตะบอง เป็นเขตที่สอง
  • 5 กรกฎาคม 2483 เปลี่ยนชื่อเป็น "กรมโฆษณาการ” และมีการตั้งกองการต่างประเทศเพิ่มขึ้นเพื่อติดต่อ และโฆษณาการเผยแพร่ข่าวสารต่อชาวต่างประเทศ
  • 4 สิงหาคม 2490 โอนสำนักงานส่งเสริมการท่องเที่ยวจากกระทรวงคมนาคมมาขึ้นกับกรมโฆษณาการ
  • 8 มีนาคม 2495 เปลี่ยนชื่อเป็น "กรมประชาสัมพันธ์” เพื่อให้เหมาะสมกับภาระหน้าที่ในฐานะ แหล่งการเผยแพร่นโยบายและผลงานของรัฐบาล รวมทั้งเผยแพร่ข่าวสาร การเมือง ศีลธรรม วัฒนธรรม ความรู้และความบันเทิง ตลอดจน เป็นสื่อกลาง สร้างความสัมพันธ์อันดี ระหว่าง รัฐบาลกับประชาชนด้วย
  • พ.ศ. 2497 ตั้ง "สำนักงานแถลงข่าวไทยในต่างประเทศ” ขึ้นที่ลอนดอนและวอชิงตัน และได้จัดตั้ง กองประชาสัมพันธ์ภาคพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นแห่งแรก ทำหน้าที่ เป็นหน่วยงาน สาขาของกรมประชาสัมพันธ์ในภาคใต้โดยเฉพาะ
  • 1 มกราคม 2503 โอนสำนักงานส่งเสริมการท่องเที่ยวไปรวมกับ องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ซึ่งจัดตั้งขึ้นใหม่และเพิ่มหน่วยงานระดับกอง คือ กองสำรวจประชามติ เพื่อสำรวจ และรับฟัง ความคิดเห็น ของประชาชน
  • พ.ศ.2503 ได้มีการติดตั้ง "กองประชาสัมพันธ์เขต" ขึ้นที่จังหวัดขอนแก่น ลำปาง และสงขลา เพื่อเป็นหน่วยงานสาขาของกรมประชาสัมพันธ์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคใต้ตอนล่าง
  • 20 ตุลาคม 2504 ตั้ง "โรงเรียนการประชาสัมพันธ์" ขึ้นในสังกัดกรมประชาสัมพันธ์ เพื่อเผยแพร่วิชาความรู้และส่งเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับวิชาการประชาสัมพันธ์ และการติดต่อสื่อสาร
  • พ.ศ.2513 ตั้ง "สำนักงานแถลงข่าวไทยขึ้นที่พนมเปญประเทศเขมร" ปัจจุบันยกเลิกไปแล้ว
  • 21 สิงหาคม 2518 มีพระราชกฤษฎีกา แบ่งส่วนราชการบริหารส่วนกลาง และราชการส่วนภูมิภาค ของกรมประชาสัมพันธ์ใหม่ โดยมีหน่วย ระดับกอง 15 หน่วยงาน
  • มิถุนายน 2521 ตั้ง "สำนักงานแถลงข่าวไทยที่กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย"
  • 1 มกราคม 2522 ตั้ง "สำนักงานแถลงข่าวไทยที่เจดดาห์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย
  • 17 กันยายน 2526 ตั้ง "ศูนย์ประชาสัมพันธ์เขต 4 สุราษฎร์ธานี" เพิ่มขึ้น 1 แห่ง
  • 7 สิงหาคม 2529 มีพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมประชาสัมพันธ์ ออกเป็นราชการบริหารส่วนกลาง (20หน่วยงาน) และราชการบริหารส่วนภูมิภาค (สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัด) โดยเพิ่มหน่วยงานใหม่คือ กองงานคณะกรรมการประชาสัมพันธ์แห่งชาติ, ศูนย์ประชาสัมพันธ์เขต 5-8, และวิทยุโทรทัศน์แห่งชาติ และสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11
  • 26 มีนาคม 2540 มีพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมประชาสัมพันธ์ โดยแบ่งเป็นราชการบริหารส่วนกลาง 22 หน่วยงานและราชการบริหารส่วนภูมิภาค (สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัด 75 จังหวัด)

 

 ตรากรมประชาสัมพันธ์

      ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งปรากฎในราชกิจจานุเบกษา ตอนที่ 7 เล่มที่ 64 ลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2490 กำหนดเครื่องหมายราชการ "กรมโฆษณาการ” ให้เป็นรูปพระอินทร์เป่าสังข์เหาะลอยอยู่เหนือเมฆ มีวงกลมล้อมรอบตามวรรณคดีกล่าวไว้ว่า พระอินทร์เป่าสังข์ปลุกพระนารายณ์ให้ตื่นจากบรรทมสินธุ์ในสะดือทะเล เพื่อขึ้นมาปราบเหตุร้ายต่าง ๆ ในโลก อย่างไรก็ดี โดยที่สังข์ ตามลัทธิพราหมณ์ถือว่าเป็นมงคล 3 คือ สังข์ ถือกำเนิดจากพระพรหม ท้องสังข์เคยเป็นที่ซ่อนคัมภีร์พระเวทและตัวสังข์ มีรอยนิ้วพระหัตถ์ ของพระนารายณ์ ในพิธีทางศาสนา พราหมณ์ จึงมีการเป่าสังข์เพื่อความเป็นสิริมงคลด้วย นอกจากนี้ พระในลัทธิชินโตก็ใช้สังข์เป่าในพิธีมงคลพวกชาวเกาะทะเลใต้ เป่าสังข์ บอกสัญญาณระหว่างกันปรากฏว่าได้ยินไปไกลไม่แพ้เป่าเขาควาย เนื่องจากงานประชาสัมพันธ์เป็นการโฆษณาเผยแพร่และอธิบายชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจอย่างกว้างขวางเป็นการสร้างความเข้าใจอันดี โดยมีวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ และภาพยนตร์เป็นเครื่องช่วย จึงเปรียบได้กับการเป่าสังข์ของเทวดาในสมัยโบราณเพื่อบอก สัญญาณ และเรียกประชุม นั่นเอง

 

 สีกรมประชาสัมพันธ์

ใช้สีม่วง ซึ่งถือกันว่าเป็นสีของงานสื่อสารมวลชนและการประชาสัมพันธ์

 

Link banner

 

Copy code นี้ไปลงในเว็บไซต์ของท่าน

 <a href="http://www.prd.go.th" target="_blank"><img src="http://www.prd.go.th/images/prd_banner01.jpg" border="0" alt="กรมประชาสัมพันธ์"

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar